05 06 / 2020

ART LIVES MATTER

ในโลกนี้ล้วนมีหลากสี ไม่ได้ปรากฏเพียงขาว ดำ หรือเหลือง โลกศิลปะก็เช่นกัน JWD Art Space อยากแนะนำ 10 ศิลปินชาวผิวสีคัดสรร ผู้สร้างแรงกระทบในโลกศิลปะ

Artwork: The Great White Way Performance (2000)

POPE.L

เขาเรียกตัวเองว่า “ศิลปินผิวดำที่เป็นมิตรที่สุดในอเมริกา©” และเป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยชั้นแนวหน้า ทั้งด้านการแสดง จุดประเด็นด้านเชื้อชาติและชนชั้นกรรมาชีพ ผลงานที่ Pope.L สร้างสรรค์มีทั้งภาพถ่าย ประติมากรรม งานเขียน และจิตรกรรม วาดเส้น และทำงานโครงการชุมชนอีกด้วย ครั้งหนึ่ง Fluxus เคยถามว่าเขาเป็นพวกนักเคลื่อนไหวทางสังคมหรือไม่ POPE.L กล่าวกลับ… “ไอ้การที่ผู้คนใช้คำว่า การเคลื่อนไหว อย่างทุกวันนี้ มันฟังอย่างกับว่าหลังประโยคที่ลงท้ายด้วย ism … พื้นที่ที่ผมสร้างในผลงานเพื่ออย่างอื่นยังจะดูเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าอีก คล้ายๆ กับคำว่า- เปลี่ยนโลกกันเถอะ” น่ะนะ

ในบรรดาผลงานชิ้นเอกที่โดดเด่นของเขาอย่าง The Great White Way ผลงาน 22 miles หรือ 9 years และ 1 street (เริ่มปี 1990) ซึ่งเขาได้สวมชุดคอสตูมซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Superman พาดสเก็ตบอร์ดกลางหลังแล้วลากตัวเองไปตามถนนอันเหยียดยาวแห่งเมืองแมนฮัตตัน เป็นความสะเทือน น่าขัน และฉึกร้าว ดังคำกล่าวที่เขาว่าไว้ “การหมอบราบกลางสาธารณชน”

Artwork: Untitled (2009)

Kerry James Marshall

ศิลปินผู้ท้าทายแนวคิดเรื่องชาวชายขอบแอฟริกัน – อเมริกัน สร้างตัวละครเอกเป็นคนกลุ่มนี้ ผ่านผลงานอันหลากหลายของเขาไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม วาดเส้น วิดีโอ หรืองานจัดวาง “ดำสนิท แจ่มแจ้ง” ดังที่ปรากฏในคำพูดของเขาบ่อยครั้ง ผลงานจึงมักมีรากมาจากประสบการณ์ในชีวิต

“คุณไม่สามารถเกิดในเบอร์มิงแฮม อลาบาม่า ในปี 1955 และเติบโตในเขต South Central [ลอสแอนเจลิส] ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนชาวผิวสีขนาดใหญ่ โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองจะไม่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในแง่ใดแง่หนึ่ง คุณไม่สามารถย้ายไปที่ Watts ในปี 1963 โดยไม่พูดถึงมันได้”

มาร์แชลมีความรู้ดีในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโครงสร้างศิลปะพื้นบ้านชาวผิวสี หยิบยกวัฒนธรรมและแบบแผนเหล่านี้มาใช้เป็นประเด็นในงานของตัวเอง ในผลงานที่ชื่อ Black Star (2011) ภาพนู๊ดผู้หญิงผิวสีที่คล้ายกับพุ่งพรวดผ่านผืนผ้าใบ เรียกความสนใจจากคนดูให้คิดต่อว่าหล่อนน่าจะเป็นอย่างไร (และควรจะเป็นอย่างไร)

Artwork: Summer tones for a fall situation 2018

Theaster Gates

“ผมคิดว่าตัวเองเป็นพวกศิลปินแบบทำงานเต็มเวลา เป็นนักวางผังเมืองด้วย และเป็นนักเทศน์อีกต่างหาก ผมเปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานจนไม่ต้องการคำนิยามอีกต่อไป”

Theaster Gates มุ่งทำงานในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและความยากจนในอเมริกา และต้องการเปลี่ยนแปลงชุมชนที่ถูกทำลายทั่วประเทศ โดยมีพื้นฐานมาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน – อเมริกัน และจากประสบการณ์ตรงของเขาเองที่เติบโตมาจากทางฝั่ง South Side ของชิคาโก สภาวะความเป็นทาส การแสวงประโยชน์จากอุตสาหกรรม และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมือง คือจุดเด่นในงานประติมากรรมงานจัดวาง และการแสดง

ครั้งวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 เขามุ่งทำงานศิลปะเกี่ยวกับประเด็นเดิมในระดับที่เข้มข้นขึ้น เริ่มต้นจากพื้นที่ใกล้เคียงของเขาเองก่อนขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ ฟื้นฟูอาคารร้างว่างเปล่าจำนวนมากให้กลายเป็นศูนย์กลางทางสังคมที่มีชีวิตชีวา และเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม

Artwork: From Lisson Gallery

Stanley Whitney

ภาพวาดนามธรรมเปี่ยมชีวิตชีวาของ Stanley Whitney ปลดล็อคโครงสร้างเชิงเส้นของแนวกริด ฉ่ำสีที่ถูกสร้างด้วยจังหวะแห่งสีและการสร้างพื้นที่แบบใหม่ๆ อันเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ล้วนเป็นแรงบันดาลใจที่มาจากผลงานที่มีความหลากมิติอย่าง Piet Mondrian หรือ free jazz และลวดลายการต่อรูปทรงของผ้าสไตล์อเมริกัน ซึ่ง Whitney สร้างลายจากรูปทรงความเป็นแท่งและท่อนซึ่งเชื่อมต่อสีต่างๆ เข้าด้วยกันจนเกิดเรื่องราวปรากฏบนแต่ละผืนผ้าใบ

เขาใช้เวลานับสิบปีในการทดลองกับวิธีการจัดองค์ประกอบเดี่ยวแต่เปี่ยมด้วยศักยภาพการสร้างสรรค์อันไร้ขีดจำกัดการแบ่งช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นหลายส่วนในหนึ่งผืนผ้าใบ การใช้สีน้ำมันเส้นบางเบาผ่านฝีแปรงฉูดฉาด ทว่าดูโปร่งแสงและรักษาอารมณ์อันขมึงเครียดที่เส้นขอบ ซึ่งอยู่ระหว่างแต่ละแนวเส้นของสีสันสดใส ด้วยขนาดผืนผ้าใบที่ต่างกันนี้ เขานำตัวเองเข้าสำรวจผลของความลื่นไหลอันอิสระ ด้วยการวาดเส้นทรงเรขาคณิตด้วยมือ สำรวจทั้งในระดับใกล้ชิดและจากมุมกว้าง ในขณะที่ยังคงละเลงสีอย่างต่อเนื่อง จับอารมณ์ของสี รวมถึงทุ่มเทการทำงานให้กับการทดลองด้านสีมาโดยตลอด

Artwork: Just above midtown 1982

David Hammon

ในโลกศิลปะ David Hammons เป็นที่รู้จักกันในความเป็นผู้ ‘ปฏิเสธ’ ที่จะเข้าร่วมพิธีและกฎต่าง
เขารู้ว่าการเป็นคนผิวสีในโลกศิลปะที่คนผิวขาวเป็นใหญ่ราวกับผนังขาวในพิพิธภัณฑ์ ในโลกศิลปะของชนอเมริกาที่สิทธิพิเศษของความเป็นคนผิวขาวสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่อาจเสื่อมถอยนี้ เขาตระหนักว่าเป็นเรื่องยากยิ่งที่ต้องแลกกับการรับมือในชื่อเสียงของตัวเอง อย่างไรก็ตาม Hammons ได้สร้างงานศิลปะมากมายที่ดึงดูดผู้ชมจากช่วงปลายทศวรรษ 1960 จนถึงปัจจุบัน

Artwork: Studio performance with RSVP (1976)

Senga Nengudi

ในบรรดาศิลปินเบอร์แรกๆ ซึ่งแสดงนิทรรศการที่ Just Above Midtown แกลเลอรี่แห่งแรกของนิวยอร์กที่ร่วมงานกับศิลปินแอฟริกันอเมริกันบ่อยครั้ง Senga Nengudi ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ผ่านงานประติมากรรมและงานจัดวาง ซึ่งผลงานชิ้นดังของเธออย่าง R.S.V.P. (1975) – เรียกได้ว่าศิลปินต้องการให้ผู้คนมีบทบาทร่วม- งานจัดวางที่เป็นถุงน่องบรรจุด้วยทรายสีเข้มผูกปม ดึงขึงให้เหยียดยาวไปทุกทิศทาง

“มันสัมพันธ์กับความยืดหยุ่นของร่างกายมนุษย์”  Nengudi กล่าว

“จากจุดเริ่มต้นอันนุ่มนวลและตึงแน่น ไปจนถึงสภาวะอันหย่อนคล้อย … ร่างกายมนุษย์สามารถยืนและทานต่อแรงผลัก-ดึงจนกว่ามันจะเข้าที่”

ผลงานล่าสุดของเธอได้รวมเอาการจัดวางผสมผสานกับการเต้นรำแบบพิธีกรรม จิตรกรรมเม็ดทราย ดนตรีและวิดีโอ รวมถึงการอ้างอิงเรื่องราวข้ามวัฒนธรรมไปจนถึงงานฝีมือของวัฒนธรรมพื้นเมืองทั่วโล

Artwork: Numbers and trees (2016)

Charles Gaine

ในงานที่หลากหลายและแสดงความฉลาดอันซับซ้อน Charles Gaines ได้สำรวจความบังเอิญ ความตึงเครียดระหว่างระบบตรรกะและมือมนุษย์ และวิธีการหาความหมายจากศิลปะ Gaine อ้างถึง John Cage ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลต่อผลงานของเขาที่ใช้ชื่อ Airplanecrash Clock (1997) ซึ่งเป็นงานประติมากรรมจลนศาสตร์ (Kinetic) สร้างเครื่องบินจำลองโดยวางกลไกให้ปักส่วนหัวลงพื้นซ้ำๆ ในขณะที่ชิ้นส่วนข้อความและภาพถ่ายในผลงานชื่อ Absent Figures (2000-01) เป็นการบันทึกความเสียหายร้ายแรงที่เกิดบริเวณ Mount Rainier ในวอชิงตัน ส่วนงาน Manifestos (2008) เป็นคอลเลกชันวิดีโอดิจิทัล ผลงานการประพันธ์ดนตรี และภาพวาด เกนส์ได้พัฒนาระบบแปลข้อความที่ตัดมาจากเหตุปฏิวัติสี่ครั้งในศตวรรษที่ 20 ในรูปแบบของสกอร์ดนตรี โดยเล่นผ่านลำโพงควบคู่กันไป นอกจากนี้เขายังสนใจในประเด็นการทำลายสิ่งแวดล้อม จากผลงาน Greenhouse (2007) ซึ่งเป็นงานตู้ประติมากรรมที่จะเปลี่ยนแสงและสภาพแวดล้อมไปตามค่ามลพิษทางอากาศในรัฐแคลิฟอร์เนีย (จากการอ่านค่าโดยระบบคอมพิวเตอร์)

Artwork: Pickett’s charge the high water mark

Mark Bradford

การประดิษฐ์ภาพตัดปะสื่อผสมที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา เช่นส่วนของป้ายโฆษณา ใบปลิว หรือลายฉลุกราฟฟิตี ผลงานของมาร์คแบรดฟอร์ด ศิลปินชาวอเมริกัน ได้รวบยอดความสนใจของเขาที่มีต่อนามธรรมสมัยใหม่กับชุมชนเมือง

ในผลงานซึ่งทั้งแสดงถึงความทะยานอยากและดึงดูดสายตาเหล่านี้มีความโดดเด่นเมื่อมองภาพผลงานจากองค์รวม และยังเป็นการพรรณนาเชิงอุปมาอุปไมยถึงฉากหรือภูมิประเทศอีกด้วย ตัวอย่างเช่นในผลงานชื่อ Kryptonite (2006) Bradford ได้สร้างภาพตัดปะจนเป็นตารางอันอัดแน่น ราวกับคือภาพวาดจากมุมมองบนท้องฟ้า จนชวนให้นึกถึงภาพงานร่วมสมัยอันโดดเด่นอย่าง Broadway Boogie Woogie (1942-43) ของ Piet Mondrian นอกจากนี้ Bradford ยังสร้างงานศิลปสาธารณะ งานจัดวาง วิดีโอ นิยมสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะชั้นสูงและวัฒนธรรมสมัยนิยม ระหว่างรูปธรรม พื้นผิว และภาพ ในเวลาต่อมาเขาได้รับรางวัล Bucksbaum ของพิพิธภัณฑ์ Whitney และรางวัล MacArthur Fellow

Artwork: Separate but equal genocide aids (1991-92)

Howardena Pindell

Pindell เป็นศิลปินชาวแอฟริกันอเมริกันเพียงคนเดียวที่ได้วุฒิปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Yale อันทรงเกียรติ จากนั้นเธอย้ายไปยังนิวยอร์ค ยื่นผลงานเพื่อเข้าร่วมแกลเลอรี่หลายแห่งอย่างอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถูกปฏิเสธเพียงเพราะเป็นคนผิวสี ซ้ำยิ่งเป็นหญิงเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน จึงยิ่งเป็นที่ถูกเพ่งเล็ง

สำหรับเนื้องานแล้ว เธอนำเทคนิคการเล่าเรื่องและการแสดงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจสภาพทางสังคมของเธอ ทั้งยืนยันว่าความรุนแรงในสังคมที่มีต่อคนผิวสีกับการปรามสถานภาพเพศสตรี (ของเธอ) นั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ในฐานะนักสตรีนิยมและผู้ก่อตั้งแกลเลอรี A.I.R. Pindell จึงได้จัดให้มีการต่อต้านการเหยียดผิวและสนับสนุนนโยบายที่เกี่ยวข้องครอบคลุมไปยังโลกศิลปะ

Artwork: Ruckenfigur (2009)

Glenn Ligon

Ligon เกิดและเติบโตในบรองซ์เกล็น เรียนศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนพร้อมทั้งเรียนรู้อัตลักษณ์การเมืองผ่านประสบการณ์การเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติต่อชาวรักร่วมเพศที่เขาพบเห็นในนิวยอร์ก เมื่อการศึกษาศิลปะแบบทางการคลุกเคล้าเข้ากับประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลอันซับซ้อน จึงกลายเป็นผลงานที่เปี่ยมด้วยความรู้สึก ชี้นำข้อความท้าทายสังคม

ในปี 1993 นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ Whitney Biennialได้สนับสนุนผลงาน Notes on the Margin of the Black Book (1991–93) ซึ่ง Ligon ได้จับคู่ภาพเข้ากับประโยคคำ เป็นความเห็นในเชิงแดกดัน รวมถึงนำเสนอภาพร่างกายชายหนุ่มชาวผิวสีอันเป็นสัญญะ ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคการสร้างจากแสงนีออน ผงถ่าน ผงกลิตเตอร์ งานเพ้นท์ หรือภาพถ่าย งานของเขามีความผันแปรไปมาระหว่างอารมณ์ขันและความซื่อตรง เตือนให้ผู้ชมตระหนักว่าโมหาคติยังคงได้รับความนิยมไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน

บทความล่าสุด

หรือการทำลายงานศิลปะจะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของเหล่านักเคลื่อนไหว?

ในประวัติศาสตร์ของเรามีผลงานศิลปะมากมายที่ถูกทำให้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นจากการโจรก...

วันศิลปะโลก – 15 เมษายน

นอกจากจะเป็นวันที่คนไทยได้ชุ่มฉ่ำไปกับการเล่นน้ำและเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทยไปกับเทศ...

ฉลองวันเกิดแวน โก๊ะ ไปกับภาพดอกทานตะวันแห่งความสุข

ใครรู้บ้างว่าวันนี้ (30 มีนาคม) เป็นวันเกิดของศิลปินที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่างวิน...

ฉลองวันสตรีสากลไปกับ 5 ศิลปินหญิงที่เฉิดฉายในวงการศิลปะไทย

ถือว่ามีนาคมเป็นเดือนผู้หญิงยืนหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็...