
ห้องแสดงงานกลางส่วนที่ 2 นิทรรศการ ‘Die Schöne Heimat’
‘JEDES WESEN FOLGT SEINER NATUR’, Ink on Canvas, 1984
ผลงานศิลปะที่ดีบางชิ้นเกิดจากสภาวะของปัจจุบันขณะ
เพราะบางความงดงามมีการเกิดในห้วงเวลาเฉพาะที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ศิลปินสังเกตและจดบันทึกความคิดและห้วงอารมณ์เหล่านั้นแล้วนำมานำเสนอแก่ผู้ชม ผ่านภาษานามธรรมอย่างลายเส้น น้ำหนักของหมึก เป็นภาษานามธรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่สามารถอ่านออกอย่างเช่นตัวอักษรที่คิดค้นโดยมนุษย์ ชิ้นงานศิลปะเหล่านั้นสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผลงานชิ้นอื่นหรือพื้นที่ใหม่ได้ เกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ สร้างบริบทที่ต่างจากของเก่า โดยยังคงประสานเป็นหนึ่งเดียวกับที่มาดั้งเดิมของตน
คำว่า JEDES WESEN FOLGT SEINER NATUR มีแนวคิดที่กำเนิดจากกวีบทหนึ่ง ประโยคนี้แปลความโดยรวมได้ว่า ทุกสิ่งมีชีวิตหรือจิตวิญญาณ ซึ่งสุดท้ายจะกลับไปตามหาธรรมชาติดั้งเดิมของตัวเอง กล่าวขยายความคือ เริ่มแรกที่มนุษย์กำเนิดเป็นทารกล้วนมีความใสซื่อ จนการเติบโตได้ทำให้เขาผ่านสภาพสิ่งแวดล้อมหรือจริตที่ปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ ตัวตนเดิมจึงเตลิดเปิดเปิงหายไป แต่ในท้ายที่สุดแล้ว จะมีช่วงชีวิตหนึ่งที่เขาจะได้กลับมาเรียนรู้อีกครั้งว่าตัวเองคือใคร
‘JEDES WESEN FOLGT SEINER NATUR’, Ink on Canvas, 1984
‘Untitled’, Ink on Canvas, 1984
ผลงานซีรีย์นี้สร้างด้วยเทคนิคหมึกและปากกาคอแร้งเมื่อปี 1984 หรือพ.ศ. 2527 ศิลปินใช้สมาธิในการสรา้งสรรค์อย่างมาก เสมือนการจดบันทึกความคิดด้วยเส้นสายจำนวนมหาศาลที่อ่านไม่ออกด้วยภาษาตัวอักษรที่มนุษย์คิดค้น ในน้ำหนักของเส้นเหล่านี้มีบางสิ่งซ่อนอยู่
เมื่อช่วงชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลง เขาผู้นั้นย่อมเรียนรู้หรือนำมาปรับใช้ สำหรับศิลปินแล้ว เขาได้พาประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตจริงเหล่านั้นเดินทางเข้าไปสู่ตัวผลงานศิลปะ อันเป็นเสมือนบทบันทึกของชีวิตอีกนัยหนึ่ง ลายเส้นในตัวงานจึงมีความน่าสนใจ ในฐานะที่มันถูกจดบันทึกด้วยลายเส้นนามธรรม
‘Untitled’, Metal Sculpture Installation, 2019
เมื่อเรามองหิน หินคือเรา และเราคือหิน ประติมากรรมเหล็กนี้ก็เช่นกัน
เมื่อมนุษย์มองไปที่ตัววัสดุและหาหนทางในการทำงานหรืออยู่ร่วมกับเขา เท่ากับการเดินไปสู่หนทางความคิดของปรัชญาตะวันตกหรือ อภิปรัชญา (Metaphysics) อันหมายถึงทุกสิ่งมีตัวตน แต่เราจะเห็นเขาหรือไม่?
งานประติมากรรมโลหะชุดนี้ ศิลปินได้นำความคิดและตัวตนเข้าไปใส่ในตัวผลงาน เมื่อสองอย่างหลอมรวม ทั้งความคิดและชิ้นงานจึงร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผลที่ได้คือความสงบซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินต้องการนำเสนอ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะงานศิลปะประเภทไหนก็ตาม ผลของมันล้วนต้องแสดงตัวตนอันมีน่าสนใจ หรือมีภาวะนามธรรมเฉพาะ ผ่านเทคนิคการนำเสนออันหลากหลาย ในแง่ความหมายของชิ้นงานไม่ว่าจะเป็นวัสดุใดก็ตาม ล้วนมีอยู่ในตัวตนหรือเกิดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อศิลปินคิดสร้างงานขึ้นมาหนึ่งชิ้นประสบการณ์หรือความรู้จึงถ่ายทอดและสื่อสารผ่าน สัญชาตญาณ เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้น
ส่วนประติมากรรมสองชิ้นเล็กซึ่งถูกแยกออกมาจากองค์ประกอบใหญ่ก็เช่นกัน หากมองในครั้งแรกแล้วอาจเข้าใจไปได้ว่าเป็นส่วนเกิน แต่เมื่อพิจารณาอีกครั้งจะพบความลงตัวบางอย่าง ในแง่ที่ว่ามันเกิดปฏิสัมพันธ์กับผลงานเพ้นท์ติ้งในพื้นที่เดียวกันจนเกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ทว่ายังคงเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมหลักที่ถูกแยกจากมา
‘Untitled’, Pencil on Paper, 1995
งานชุดนี้มีการวางแผนและมีรูปแบบชัดเจนในตัวเอง หากสังเกตในระยะใกล้จะพบว่าแต่ละชิ้นมีรายละเอียดอัดแน่นด้วยน้ำหนักของเส้นดินสอ แต่เมื่อมององค์ประกอบโดยรวม จะดูคล้ายกับว่าพวกเขาลอยตัวอยู่ในที่ว่างเปล่า
บทความล่าสุด

Art Appreciation 101 : กฎ (ไม่ลับ) สำหรับเหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์ส
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของเหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์สเจนนี้เลยก็ว่าได้ ที่ต่างพาก...

5 สิ่งที่สร้างความเสียหายให้กับผลงานศิลปะ
หากนึกถึงผลงาน ‘ศิลปะ’ หลายคนอาจนึกถึงชิ้นงานที่จัดแสดงอยู่ตามแกลเลอรีหรือพิพิธภ...

หรือการทำลายงานศิลปะจะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของเหล่านักเคลื่อนไหว?
ในประวัติศาสตร์ของเรามีผลงานศิลปะมากมายที่ถูกทำให้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นจากการโจรก...

วันศิลปะโลก – 15 เมษายน
นอกจากจะเป็นวันที่คนไทยได้ชุ่มฉ่ำไปกับการเล่นน้ำและเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทยไปกับเทศ...